วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แก้กรรมให้พ้นทุกข์

แก้กรรมให้พ้นทุกข์
          ว่าโดยหลักกรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว แก้กรรมคงไม่มี ขึ้นชื่อว่ากรรมอันสำเร็จพร้อมด้วยเจตนาแล้วย่อมมีผลผลิตเป็นวิบาก เพราะมีเจตนาเป็นตัวทำให้เกิดการกระทำ เมื่อกระทำกรรมสำเร็จแล้ว ย่อมให้ผลตามชนิดของกรรมที่ได้ทำไว้ ถ้าทำดีเรียกว่า กุศลกรรมหรือบุญ ถ้าทำชั่วเรียกว่าอกุศลกรรมคือบาป ไม่มีใครหลีกเลี่ยงกรรมได้ แม้พระพุทธองค์ยังทรงต้องรับผลของกรรมที่ทรงทำไว้แล้วฉันใด แล้วเราท่านทั้งหลายเป็นใครจะหลีกเลี่ยงกรรมที่ตนทำไว้ได้เล่า แม้ในเวลาจวนจะปรินิพพานเต็มที ผลของกรรมที่ท่านทำไว้ยังทำให้พระองค์ต้องอดน้ำไม่ได้ฉันน้ำเลย ต้องได้รับทุกขเวทนา

            ถึงแม้ว่ากรรมที่ทำแล้วแก้ไขไม่ได้ก็ตาม ยังมีหลักการทำบุญหรือการทำกุศลบางอย่างที่พอที่จะช่วยได้ ที่มีมาในพระพุทธศาสนาคือ
       
          ๑.ทาน หรือการทำบุญด้วยวัตถุ สิ่งของ เป็นต้น จนถึงที่สุดคืออภัยทาน ขึ้นชื่อว่า "ทาน" โดยมากเป็นการสละวัตถุ สิ่งของ ให้แก่บุคคลที่ควร มีพระสงฆ์เป็นต้นเป็นที่สูงสุด การให้ทานที่ถึงพร้อมด้วยกาลสาม เป็นการทำบุญที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือในขณะก่อนให้เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อในกรรมและผลของกรรมจึงให้ทาน ในเมื่อขณะที่กำลังทำมีความเคารพในการให้ทาน และเมื่อทำทานเสร็จแล้ว มีใจอิ่มเอิบในบุญที่ได้ทำแล้ว คิดถึงเมื่อไรก็มีใจปีติปราโมทย์ ทานที่ถึงพร้อมด้วยกาลสามนี้จัดเป็นทานที่สำเร็จผลดีที่สุด ให้ผลมาก และปราณีตมาก เป็นกุศลชั้นดี ให้ผลมากและเร็ว
(ทานหรือบุญที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีศีล มีสมาธิเป็นบาทพื้นฐานถือว่ามีกำลังแรง ให้ผลเร็ว) 
             "เจตนาในกุศลที่เป็นไปเพื่อออกจากการเวียนว่ายตายเกิดเป็นกุศลที่สูงที่สุด"
             การให้ทานเป็นการสละความยึดมั่น ถือมั่นในทรัพย์ เป็นการอนุเคราะห์โลก เป็นเสบียงให้เกิดโภคสมบัติ ในกามสุคติภูมิมีมนุษย์และเทวดาเป็นต้นตลอดการเดินทางในวัฏฏะสงสาร ผู้มีทานกุศลน้อยย่อมเดือดร้อนเพราะทรัพย์ ขาดแคลน ขัดสน อดยาก ผู้ทำทานกุศลไว้มาก ย่อมบริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยทรัพย์อันเป็นเครื่องปลื้มใจ

            ๒.การรักษาศีล เป็นกุศลที่มีความปราณีตขึ้นมาอีกระดับ การตั้งใจงดเว้นจากบาปกรรมทั้งปวง มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์เป็นต้น การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ในคฤหัสเพศฆราวาส เป็นอัธยาศัยแห่งการพ้นทุกข์ไปอีกขั้นหนึ่ง ผลของการรักษาศีลทำให้ไม่ต้องทุกข์ใจ ทุกข์กาย ไม่มีตำหนิมลทินในใจเพราะไม่มีบาปติดค้างใจ ผลของการเป็นผู้มีศีล ทำให้เป็นที่รักของคนที่อยู่ใกล้ชิด เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย กลิ่นของศีลยังหอมทวนลมได้ เทวดาเป็นผู้ที่มีหิริ โอตัปปะ บุคคลที่รักษาศีลได้ดี ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและอมนุษย์ด้วย ดังนั้นศีลเหมือนกับเสื้อเกราะที่จะคุ้มครองให้เราไม่เสียหายเพราะเจ็บป่วย ไม่ถูกทำลายทรัพย์ มีความเป็นผู้งดงาม ไม่ตกไปสู่โลกที่ชั่ว
         การรักษาศีลเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นกุศลที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้เราพ้นจากความทุกข์ได้

            ๓.การปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐาน สวดมนต์ภาวนา ก็เป็นกุศลที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะการภาวนาเป็นเครื่องระงับซึ่งอกุศลธรรมบางอย่างไว้ได้ จนถึงขั้นเกิดปัญญาเห็นแจ้งในสภาวะธรรมประหาณกิเลสได้ตามกำลังของแต่ละท่าน แต่ถึงแม้ว่าจะทำอะไรกิเลสไม่ได้ก็ตาม ภาวนาก็มีผลช่วยระงับทุกข์ที่เกิดในใจได้ขณะหนึ่ง เพราะมีอารมณ์อยู่ในกรรมฐาน เมื่อมีอารมณ์อยู่ในกรรมฐานจิตก็ไม่ไปจดจ่ออยู่กับทุกข์ ดังนั้นการเจริญกรรมฐานจึงช่วยลดทุกข์หรือดับทุกข์ใจได้ การสวดมนต์สาธยายในพุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ ก็มีอานิสงส์ทำให้ทุกข์ที่เบาๆ บางอย่างหมดไปได้ การสวดมนต์สาธยายในพระปริตรหลายๆบทก็ช่วยกำจัดภัย อันตรายได้
         เมื่อจิตมีสมาธิหรือมีความสงบขึ้น ย่อมเห็นหนทางในการแก้ปัญหาชีวิต เพราะความฟุ้งซ่านทำให้มืดมล ภาวนากุศลนี้จึงเป็นส่วนที่สำคัญในการแก้ทุกข์ได้ ทำให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม

        วิธีแก้ทุกข์ หรือแก้ดวง-แก้กรรมอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยกุศลกรรมใหม่เท่านั้นที่จะเข้ามาเบียดเบียนหรือตัดรอนอกุศลวิบาก(ทุกข์)ที่กำลังให้ผลอยู่ การอ้อนวอนกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย ถ้าตนเองไม่มีกุศลที่มีกำลังมากและให้ผลเพียงพอ ความทุกข์ก็ไม่อาจจะหมดไปได้โดยเร็ว ดังนั้นต้องตั้งใจทำความดีทุกประการ ต้องตั้งใจเปลี่ยนพฤติกรรม หันหน้ามาให้ทาน รักษาศีล สวดมนต์เจริญภาวนา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปกับกองทุกข์ เมื่อมีความเพียรในการทำความดีแล้ว ย่อมได้รับความสุขในไม่ช้า บุคคลผู้มีศีลมีธรรมในยามที่ประสพทุกข์แม้ที่นั่งแห่งท้าวอัมรินทราทิราชยังร้อนได้ ถ้าเราทำดีถึงที่สุดแล้วก็จะพ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปจมอยู่กับทุกข์ ตั้งใจปฏิบัติตน ทำความดีให้ถึงที่สุด เปลี่ยนพฤติกรรมร้าย ดำรงตนอยู่ในศีล สวดมนต์เจริญภาวนาให้ใจสงบ ปัญญาหรือแสงสว่างก็จะเกิดแก่ตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น